
ปลากัดถือเป็นปลาเลี้ยงที่สวยงามนิยมเลี้ยงกันมาตั้งแต่โบราณ สมัยก่อนเด็กๆ ที่ชนบทนิยมเลี้ยงปลากัดมาชนกันถือเป็นการละเล่นกีฬาอีกประเภทหนึ่ง ต่อมาได้มีการแข่งขันชนปลากัดกันขึ้นและกลายมาเป็นเกมการแข่งขันที่มีเงินเดิมพันเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามการเลี้ยงปลากัดเพื่อความสวยงามก็ยังนิยมกันมากในปัจจุบัน ใครที่หลงใหลปลากัดและยังไม่ค่อยรู้เรื่องราวเกี่ยวกับปลากัด วันนี้เราจะพามาทำความรู้จักวิธีการเลี้ยงและการ ดูปลากัด เพศผู้ เพศเมีย ว่าเขาดูกันอย่างไร ถ้าพร้อมแล้วมาดูกันเลยดีกว่า
การดูปลากัด แบบไหนเพศผู้ เพศเมีย
การ ดูปลากัด นั้นหลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่ามีวิธีการดูอย่างไร เพราะปลาก็มีรูปร่างลักษณะเหมือนกันทุกอย่างแต่ถ้าสังเกตดีๆ จะรู้ว่าปลากัดเพศผู้กับเพศเมียนั้นมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก โดยสามารถสังเกตลักษณะของปลากัดตัวผู้ได้ดังนี้
- สังเกตสีของปลากัด โดยตัวผู้จะมีสีเข้มกว่าอย่างเห็นได้ชัด ส่วนตัวเมียจะมีลายพาดตามลำตัวด้วย
- สังเกตวงปากของลูกปลากัด เพราะวงปากของลูกปลากัดตัวผู้จะมีสีแดง
- ดูที่ขนาดตัวของปลาเพราะปลาตัวผู้จะมีขนาดตัวที่ใหญ่กว่าปลาตัวเมียเมื่อเทียบกับอายุเท่าๆ กัน
- สังเกตที่ไข่ จะมีจุดสีขาวใต้ท้องปลากัดตัวเมีย
วิธีการเลี้ยงปลากัด
ปลากัดเป็นปลาที่มีเอกลักษณะเฉพาะตัวที่สวยงามและสีสันต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไป นิยมเลี้ยงเพื่อความสวยงามเลี้ยงง่ายไม่ยุ่งยากและไม่เปลืองเนื้อที่อีกด้วย การเลี้ยงปลากัดแตกต่างจากการเลี้ยงปลาชนิดอื่นๆ ตรงที่ไม่ต้องใช้ออกซิเจนในการเลี้ยง สำหรับใครที่อยากเลี้ยงปลากัดแต่ยังไม่รู้วิธีเลี้ยงมาดูกันดีกว่าว่าควรเตรียมอะไรบ้าง
1.หาซื้อโหลปลากัดหรือตู้ปลา
การเลี้ยงปลากัด ก่อนอื่นเราจะต้องจัดเตรียมโหลปลากัดหรือตู้ปลาที่เหมาะสม รวมถึงหาอุปกรณ์การเลี้ยงมาใส่ให้ครบ เพื่อจัดสภาพแวดล้อมในโหลหรือตู้ปลา ให้ปลากัดอยู่ได้ โดยจะมีทั้งขวดแก้ว โหลกลม โหลทรงเหลี่ยม ตู้เลี้ยงปลา เป็นต้น
2.จัดเตรียมอุปกรณ์ในตู้ปลาให้พร้อม
การจัดเตรียมตู้ปลาเป็นขั้นตอนที่สำคัญ เพราะการเลี้ยงปลากัดแน่นอนว่าจะต้องมีอุปกรณ์ต่างๆ ในโหลเพื่อให้ปลาได้มีที่หลบ เริ่มแรกล้างตู้ปลาให้สะอาดใส่อุปกรณ์ตู้ปลาลงไป จากนั้นเติมน้ำที่สะอาดที่ปราศจากคลอรีนและใส่ปลาลงไป
3.หาอาหารเม็ดให้ปลากัด
อีกหนึ่งความสำคัญของการเลี้ยงปลากัดก็คืออาหารปลา ถึงแม้ว่าการเลี้ยงปลากัดในสมัยก่อนจะใช้เหยื่อให้กิน แต่ในปัจจุบันการเลี้ยงปลากัดนิยมให้อาหารปลาสำเร็จรูป โดยผู้เลี้ยงควรให้อาหารปลากัดวันละ 2 มื้อคือเช้า – เย็นหรือวันละ 1 ครั้งก็ได้อาหารปลากัดแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่คือ
- อาหารปลากัดสำเร็จรูป
- อาหารปลาที่ยังมีชีวิตอยู่ เช่น พวกหนอน ลูกน้ำ ไรแดง หนอนแดง และไข่มด ไข่กุ้ง
4.การเปลี่ยนน้ำปลากัด
การเลี้ยงปลาสวยงามจำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำเป็นประจำอยู่เสมอ โดยขั้นตอนการเปลี่ยนน้ำสามารถทำได้ดังนี้
- เตรียมน้ำที่จะเปลี่ยนและน้ำที่จะใช้ในการพักปลา
- นำปลาไปพักไว้ในน้ำสะอาดจากนั้นทำความสะอาดโหลด้วยผ้าสะอาด
- เติมน้ำเดิม 1 ส่วนและน้ำใหม่ 3 ส่วน จากนั้นจึงค่อยใส่ปลากัดลงไป
ข้อห้ามที่ต้องรู้
สำหรับการเลี้ยงปลากัดก็มีข้อห้ามอยู่บ้างโดยข้อห้ามเหล่านี้ผู้เลี้ยงมือใหม่จำเป็นจะต้องรู้เพราะหากไม่รู้อาจจะทำให้ปลากัดตายได้ มาดูกันดีกว่าว่าข้อห้ามที่ไม่ควรทำในการเลี้ยงปลากัดนั้นมีอะไรบ้าง
- ห้ามนำน้ำดื่มหรือน้ำกรองมาใส่โหลเลี้ยงปลากัด เพราะน้ำที่เหมาะสำหรับเลี้ยงปลากัดคือน้ำประปาที่กักทิ้งไว้ 2 คืน
- ห้ามวางโหลปลากัดไว้ในที่ที่มีแดดส่องหรือร้อนมากเกินไป เพราะอาจจะทำให้ปลาตายได้
- ห้ามวางโหลปลากัดไว้ชิดผนัง เพราะอาจจะโดนจิ้งจกลงมากินได้ หรือถ้าบ้านไหนมีแมวควรหาที่คอบปากโหลไว้ป้องกันไม่ให้แมวกินปลากัด
- ห้ามใส่น้ำจนล้นโหลเพราะอาจทำให้ปลากัดกระโดดออกมาตายได้ ควรหาพืชที่เป็นของจริงใส่ลงไปในโหลเพื่อลดความเครียดให้ปลากัด
- ห้ามเลี้ยงปลากัดรวมกับปลาชนิดอื่น เพราะปลากัดจะกัดตายหมด
- ห้ามนำปลากัดเลี้ยงรวมในโหลเดียวกันเพราะจะทำให้กัดกันตาย
- ห้ามใส่สารไอโอดีนเพราะสารไอโอดีนจะทำให้ปลากัดระคายเคืองได้
ข้อดีของการเลี้ยงปลากัด
การเลี้ยงปลากัดในปัจจุบันยังคงได้รับความนิยมเพราะปลากัดมีความสวยงาม การเลี้ยงปลากัดก็ง่ายไม่ได้ยุ่งยากอะไร และนี่คือข้อดีของการเลี้ยงปลากัดนั่นเอง
- การเลี้ยงปลากัดเพื่อความสวยงาม
- การเลี้ยงปลากัดเป็นการช่วยอนุรักษ์ปลากัดไทย
- ช่วยให้เป็นคนใจเย็นมีความอดทนขึ้น
- ปลากัดเลี้ยงง่ายและใช้เนื้อที่ในการเลี้ยงไม่เยอะมาก
- ปลากัดมีราคาดีถึงแม้จะไม่แพงมาก แต่ก็สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้เลี้ยงได้
ปลากัดเป็นปลาที่มีความสวยงามมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีสีที่แตกต่างกัน คนส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงปลากัดเพื่อความสวยงามไม่ได้เลี้ยงเพื่อนำไปกัดเหมือนดังในอดีต อย่างไรก็ตามก่อนเลี้ยงควรศึกษาวิธีการเลี้ยงให้ดีโดยเฉพาะในเรื่องของการดูแลและให้อาหาร หากเลี้ยงดีก็สามารถสร้างอาชีพเสริมให้กับเราได้เช่นกัน
อ่านสาระสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ เพิ่มเติม