เคยสงสัยกันไหมว่าเวลาที่น้องหมาคันและเกาไม่หยุดนั้น นอกจากจะเกิดจากที่มีเห็บหมัดกัดแล้วยังมีอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้องหมาเกิดอาการคันโดยหาสาเหตุไม่เจอนั่นก็คือตัวไรนั่นเอง โดยตัวไรเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้เป็นสาเหตุทำให้น้องหมามีอาการคันและเป็นโรคผิวหนังตามมา เรามาทำความรู้จักกันเลยดีกว่าว่าตัวไรคืออะไรและจะดูแลรักษาป้องกันโรคที่เกิดขึ้นจากตัวไรได้อย่างไรบ้าง
ตัวไรสุนัข คืออะไร มาดูกัน
ตัวไรสุนัข เป็นปรสิตภายนอกชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็กจนไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ ตัวไรเป็นสาเหตุทำให้สุนัขมีปัญหาโรคผิวหนังทำให้เกิดโรคขี้เรื้อน ไรจะมีอยู่สองประเภทคือ ไรซาร์คอพติค (Sarcoptes ) สาเหตุของโรคไรขี้เรื้อนแห้ง และไรดีโมเด็กซ์ demodex) สาเหตุของโรคไรขี้เรื้อนชนิดเปียกหรือโรคไรขี้เรื้อนขุมขน
โรคอะไรบ้างที่เกิดจากตัวไร
เมื่อสุนัขมีการติดเชื้อไรที่ขนจะก่อให้เกิดปัญหาโรคผิวหนังตามมาโดยโรคผิวหนังนี้นอกจากจะเกิดจากเห็บหมัดที่เกาะตามตัวของสุนัขทำให้สุนัขมีอาการคันและเกาไม่หยุดจนทำให้เกิดปัญหาผิวหนังแดงและอักเสบ ไรยังเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาโรคผิวหนังในสุนัขด้วย โดยโรคผิวหนังในสุนัขที่เกิดจากไรนั้นมีอยู่ด้วยกันสองชนิดดังนี้
1.โรคไรขี้เรื้อนแห้ง
โรคไรขี้เรื้อนแห้งเกิดจากตัวไรขี้เรื้อน Sarcoptes scabiei หรือที่เรียกสั้นว่า โรค Scabies ไรขี้เรื้อนชนิดนี้มักจะอาศัยอยู่ตามผิวหนังชั้น stratum coneum ของสุนัขโดยจะพบมากบริเวณใบหูและใต้ท้องข้อศอกข้อเท้าและด้านหลังจึงทำให้น้องหมามีอาการคันและเกาไม่หยุด นอกจากอาการคันแล้วยังทำให้น้องหมาเกิดความเครียดอีกด้วย
อาการ
เมื่อน้องหมาติดเชื้อไรจะมีอาการคันเกาไม่หยุด เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง สุนัขบางตัวอาจจะเกิดปัญหาผิวหนังอักเสบอย่างรุนแรงมีตุ่มแดง คล้ายสะเก็ดรังแค เกิดคราบสะเก็ดแห้งกรังตามผิวหนังและผิวหนังมีลักษณะแห้งหนากร้านร่วมด้วย
วิธีการรักษา
การรักษาโรคไรขี้เรื้อนแห้งในสุนัขมีหลายวิธีด้วยกันขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของสุนัขมีงบประมาณเท่าไหร่ และจะเลือกการรักษาด้วยวิธีไหนการรักษาโรคไรขี้เรื้อนแห้งสุนับสามารถรักษาได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ให้คุณหมอทำการรักษาโดยการฉีดยา ivermectin ทุก ๆ 1-2 สัปดาห์ แต่วิธีนี้ก็มีข้อห้ามในสุนัขบางสายพันธุ์เพราะเป็นพันธุ์ที่มีความไวต่อยาสูงอาจจะเสี่ยงให้แพ้ยาได้ แต่วิธีนี้มีค่ารักษาค่อนข้างจะถูกกว่าวิธีอื่นๆ และต้องใช้ตามคำสั่งของคุณหมอเท่านั้น
- ใช้ยาหยดหลังด้วยยา selamectin
- ใช้วิธีป้อนยา milbemycin oxime
- ใช้การรักษาโดยให้ยา moxidectin+imidaclopid หยดหลังติดต่อกัน 2 ครั้ง
2.โรคไรขี้เรื้อนเปียก
โรคไรขี้เรื้อนเปียกหรือโรคไรขี้เรื้อนรูขุมขน เกิดจากตัวไรขี้เรื้อน Demodex canis โดยเจ้าตัวไรชนิดนี้มักจะอาศัยอยู่ในรูขุมขนบริเวณใบหน้ารอบตา ขา ฝ่าเท้า อุ้งเท้าและลำตัวของสุนัขคอยอาศัยตาม Sebum และส่วนของเยื่อบุของ Follicle
อาการ
สุนัขที่ติดเชื้อไรขี้เรื้อนเปียกจะมีอาการขนร่วง มีตุ่มหนองตามผิวหนัง ผิวหนังจะมีความเปียกแฉะ มีแผลโพรงทะลุ มีกลิ่นตัวอย่างรุนแรง กลิ่นคล้ายกับคาวปลาเค็มเกิดอาการรูขุมขนอักเสบ สุนัขบางตัวอาจจะมีอาการติดเชื้อแบคทีเรียหรือยีสต์แทรกซ้อนด้วยจะทำให้เกิดอาการคันเพิ่มมากขึ้น มีไข้ เบื่ออาหาร ซึม น้ำหนักตัวลดลง ในรายที่เป็นเรื้อรังผิวหนังจะมีสะเก็ดแห้งกรัง มีหนองหรือเลือดเกือบทั่วร่างกายรวมทั้งมีภาวะต่อมน้ำเหลืองบวมโตตามร่างกายตามมาด้วย
วิธีการรักษา
การรักษาโรคไรขี้เรื้อนเปียกจะต้องรักษาด้วยวิธีเฉพาะเท่านั้นเช่นการฟอกแชมพูที่มีส่วนผสม benzoyl peroxide หรือ chlorhexidine ใช้ฟอกบริเวณที่เป็นโรคทิ้งไว้นาน 5 – 10 นาทีทำเป็นประจำสัปดาห์ละ 2 ครั้งหรือต้องโกนขนบริเวณที่เป็นโรคให้สั้นลง เพื่อให้ตัวยาได้สัมผัสกับบริเวณที่เป็นโรคได้ดี
วิธีการกำจัดตัวไรในสุนัข
สุนัขที่มีไรเกาะตามตัวมักจะเกิดอาการคัน เกาจนผิวหนังเป็นแผล และมีปัญหาโรคผิวหนังต่างๆ ตามมาทำให้เจ้าของจำเป็นจะต้องกำจัดตัวปัญหาที่เป็นพาหะน้ำโรคผิวหนังต่างๆ ตามมาอย่างตัวไร สามารถกำจัดไรโดยการอาบน้ำตัดขนสุนัขให้สั้นลงและใช้การหมักหรือหยดโดยยากำจัดไรและทายากำจัดไรให้สุนัขประจำอย่างน้อย สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เปลี่ยนที่นอนประจำให้สุนัขเพื่อกำจัดตัวและไข่ของไรและไม่ปล่อยให้สุนัขไปเล่นกับสุนัขที่เป็นไรเพื่อไม่ให้กลับมาติดไรอีก
การป้องกันไม่ให้สุนัขมีตัวไรเกาะ
การป้องกันไม่ให้ไรเกาะตามขนสุนัขเจ้าของสามารถทำได้โดยการรักษาความสะอาดหมั่นอาบน้ำให้สุนัขเป็นประจำ ตัดขนให้เพื่อไม่ให้ยาวเกินไป ให้อาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน ถ่ายพยาธิให้ และไม่ทำให้สุนัขเกิดอาการเครียด เพราะถ้าสุนัขอ่อนแอภูมิคุ้มกันลดลงจะทำให้ขี้เรื้อนที่ไม่แสดงอาการเพิ่มขึ้นและทำให้เกิดโรคได้
โรคไรขี้เรื้อนในสุนัขเป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้ามเพราะถ้าเกิดขึ้นกันน้องหมาแล้วจะทำให้น้องหมามีอาการคันอยู่ไม่เป็นสุขสร้างความทรมานให้กับน้องหมาไม่ใช่น้อย ผู้เลี้ยงควรใส่ใจหมั่นรักษาความสะอาดและพาไปตรวจเป็นโรคประจำ ให้อาหารที่มีประโยชน์และเมื่อร่างกายแข็งแรงดีแล้วก็จะทำให้ห่างไกลจากโรคต่างๆ อีกด้วย
อ่านสาระสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ เพิ่มเติม