
สุนัขเป็นสัตว์เลี้ยงที่หลายคนชื่นชอบ เนื่องจากสุนัขสามารถสื่อสารกับเราได้ ทำให้ไม่เหงาและมีเพื่อนคุยอยู่ตลอดเวลา และเราก็เชื่อว่าทุกคนต้องการอยากให้สุนัขอยู่กับเราไปนาน ๆ อย่างแน่นอน แต่หากเลี้ยงแล้วไม่ดูแลเอาใจใส่ สุนัขก็อาจจะเกิดการเจ็บป่วยแบบไม่รู้ตัวได้ โดยเฉพาะภาวะมดลูกอักเสบในสุนัข ซึ่งเป็นการติดเชื้อของมดลูกจนทำให้เกิดการอักเสบ และอาจเกิดการติดเชื้อแบบรุนแรง จนทำให้มีหนองสะสมจำนวนมาก สำหรับโรคนี้เป็นโรคที่สามารถทำให้สุนัขของคุณเกิดอาการเจ็บป่วยอย่างรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียว ถึงแม้ว่าโรคมดลูกอักเสบจะเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับสุนัขบ่อย ๆ และมีการค้นพบมาเป็นเวลานานมากก็ตาม แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถอธิบายถึงกลไกการเกิดโรคที่แท้จริงได้ ทราบเพียงว่าฮอร์โมน Progesterone และ Estrogen เป็นสิ่งที่มีบทบาทต่อการเกิดโรค รวมถึงการติดเชื้อแบคทีเรียด้วย ซึ่งจะพบโรคนี้ในสุนัขที่ค่อนข้างมีอายุมากตั้งแต่ 8 ปีขึ้นไปและมักจะพบในสุนัขเพศเมียที่ยังไม่ทำหมันมากกว่า โดยหากน้องหมาของคุณเป็นโรคนี้แล้วจะมี วิธีรักษามดลูกอักเสบในสุนัข อย่างไร ไปดูกันเลย
วิธีรักษามดลูกอักเสบในสุนัข มีอะไรบ้าง
เมื่อสุนัขเกิดอาการมดลูกอักเสบ สามารถรักษาได้ด้วยวิธีดังนี้
รักษาด้วยการฉีดฮอร์โมน
ในสุนัขที่เป็นโรคมดลูกอักเสบ แต่เจ้าของยืนยันว่าจะไม่ใช้วิธีการรักษาโดยการผ่าตัด เนื่องจากมีเหตุผลว่าต้องการเก็บแม่พันธุ์ไว้เพื่อใช้ทำพันธุ์ต่อไป ก็อาจจะใช้วิธีรักษาโดยการฉีดฮอร์โมนแทน ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดปัญหาการติดเชื้อที่อาจทำให้เกิดผลกระทบกับหลายระบบในร่างกายของสุนัขได้ แต่อาจจะต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและแพทย์ไม่ค่อยแนะนำมากนัก
ข้อดี: ข้อดีของการรักษาโรคมดลูกอักเสบด้วยการใช้ยาคือ ดูแลง่าย และสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้
ข้อเสีย: ข้อเสียของการรักษาโรคมดลูกอักเสบโดยการใช้ยาฉีดคือ สุนัขอาจจะมีอาการข้างเคียง เช่น ปวดท้อง อาเจียน และอาจมีการถ่ายอุจจาระมากผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว น้ำลายไหล หายใจลำบาก หอบและอาจมีไข้ได้ อีกทั้งการรักษาต้องใช้เวลานาน ทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้ด้วยการผ่าตัดเอารังไข่และมดลูกออก
อีกหนึ่งวิธีรักษามดลูกอักเสบในสุนัขคือการผ่าตัดเพื่อเอามดลูกและรังไข่ออก สำหรับการรักษาด้วยวิธีนี้จะมีลักษณะคล้ายกับการทำหมันในสุนัขปกติทั่วไป แต่ในการรักษามดลูกอักเสบจะมีขนาดแผลที่ใหญ่กว่าการทำหมันปกติ ซึ่งปกติแล้วสุนัขจะต้องได้รับการปรับสภาพก่อนเพื่อให้ร่างกายมีความพร้อมในการผ่าตัดนั่นเอง และเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเมื่อได้รับการผ่าตัดหรือหลังการผ่าตัดแล้วอีกด้วย
ข้อดี: การรักษามดลูกอักเสบในสุนัขโดยการผ่าตัดมดลูกหรือรังไข่ออกนั้นถือเป็นวิธีการรักษาที่ค่อนข้างจะได้ผลดี และสุนัขที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้ก็มักจะฟื้นตัวได้เร็ว ที่สำคัญเป็นวิธีที่ช่วยลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำได้ด้วย ไม่เพียงแค่นี้การรักษาโดยการผ่าตัดยังช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ มดลูก และลดการตั้งครรภ์ได้ดีทีเดียว
ข้อเสีย: ข้อเสียของการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดคือ ไม่ควรทิ้งไว้นานและควรได้รับการปรับสภาพให้พร้อมทันที เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง และที่สำคัญการรักษาหลังผ่าตัดอาจจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้แผลติดเชื้อ
หลังการรักษา ต้องดูแลสุนัขอย่างไร
วิธีการดูแลสุนัขมดลูกอักเสบหลังจากได้รับการรักษา มีดังนี้
กรณีไม่มีโรคแทรกซ้อน
หลังจากการได้รับการรักษาเรียบร้อยแล้วสุนัขไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนใด ๆ เลย และมีอาการที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ก็จะได้กลับไปดูแลต่อที่บ้าน โดยวิธีการดูแลก็เหมือนกับสุนัขที่ได้รับการทำหมันโดยทั่วไป เพียงแต่อาจจะได้รับยาต้านจุลชีพเท่านั้น โดยจะได้รับยาต้านจุลชีพต่อเนื่องอย่างน้อย 10 วัน และมีการกักบริเวณ ไม่สามารถวิ่งเล่นไปมาได้ อย่างน้อย 2 สัปดาห์หลังการผ่าตัด และจะต้องมีการใส่เครื่องป้องกันการเลีย เกาแผลเพื่อจะได้ไม่เกิดการติดเชื้อนั่นเอง
กรณีมีโรคแทรกซ้อน
ในกรณีที่พบการเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะน้ำแห้งอย่างรุนแรง ภาวะช็อค หรืออวัยวะส่วนต่าง ๆ ล้มเหลว โดยเฉพาะไต จะยังคงได้รับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลสัตว์ เนื่องจากจำเป็นที่จะต้องได้รับยาต้านจุลชีพ สารน้ำ รวมทั้งการได้รับสารอาหารผ่านทางหลอดเลือดดำด้วย โดยจะได้รับการรักษาต่อเนื่องอย่างน้อยประมาณ 10-14 วัน เมื่อมีอาการดีขึ้นก็จะได้กลับไปดูแลต่อที่บ้าน
โรคแทรกซ้อนหลังการรักษาที่ต้องระวัง
สุนัขบางตัวที่มีร่างกายไม่สมบูรณ์หรือไม่มีความพร้อมในการรักษาอย่างเท่าที่ควร อาจจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนหลังจากได้รับการรักษาก็เป็นได้ ซึ่งโรคแทรกซ้อนที่ต้องระวัง ได้แก่
- ช่องท้องอักเสบ เนื่องจากเป็นบริเวณที่ได้รับการผ่าตัดจึงอาจส่งผลทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย
- ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะอักเสบ เป็นโรคแทรกซ้อนที่จะต้องระวังอย่างมากหลังจากการผ่าตัด เพราะสุนัขหลายตัวเมื่อรักษาเสร็จจะมีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะทันที ทำให้การรักษาต้องดำเนินต่อ
- แผลติดเชื้อ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยเมื่อได้รับการรักษาเสร็จ โดยแผลติดเชื้ออาจเกิดจากหลายปัจจัย จึงจำเป็นอย่างมากที่จะต้องดูแลแผลผ่าตัดให้ดี
- จอประสาทตาอักเสบ อาจเกิดขึ้นได้หลังผ่าตัดหรือหลังการรักษาจึงต้องคอยสังเกตและระวังอยู่เสมอ
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นหลังการผ่าตัด
วิธีป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นอีก กรณีรักษาด้วยยา
ถึงแม้ว่าสัตวแพทย์จะบอกว่าการรักษามดลูกอับเสบในสุนัขด้วยยานั้นจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ก็ตาม แต่เราก็มีวิธีป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นอีกได้ ด้วยวิธีการป้องกันดังนี้
หลีกเลี่ยงการฉีดยาคุมให้สุนัข
เพราะการฉีดยาคุมจะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมดลูกอักเสบได้ง่าย และเมื่อเกิดภาวะมดลูกอักเสบและได้รับการรักษาหายแล้ว แต่กลับมาฉีดยาคุมให้สุนัขจะยิ่งทำให้การรักษายากขึ้น อีกทั้งยังอาจทำให้มีอาการที่รุนแรงมากกว่าเดิม ดังนั้นแล้วใครที่เลือกวิธีฉีดยาคุมให้สุนัขจนเกิดมดลูกอักเสบ เมื่อรักษาหายแล้วไม่ควรกลับไปฉีดยาคุม ควรใช้วิธีทำหมันให้สุนัขหากไม่ต้องการเก็บไว้ทำพันธุ์ หรือหากต้องการผสมพันธุ์ เมื่อคลอดลูกแล้ว ควรตัดสินใจทำหมันให้สุนัขทันที เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคนั่นเอง
ให้ยาต้านจุลชีพอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าจะต้องใช้เวลาในการรักษาที่ค่อนข้างนาน แต่หากดูแลเอาใจใส่ให้สุนัขได้รับยาอย่างต่อเนื่อง ก็อาจจะช่วยให้ไม่กลับมาเป็นมดลูกอักเสบอีกก็ได้ แต่หากรักษาด้วยยาอย่างต่อเนื่องแล้วยังกลับมาเป็นอีกก็ควรปรึกษาแพทย์และเลือกใช้วิธีผ่าตัดเพื่อเอามดลูกและรังไข่ออกจะดีกว่า สุนัขจะได้ไม่กลับมาเป็นซ้ำ ๆ ซึ่งอาจจะต้องดูแลยุ่งยากสักหน่อย และใช้เวลาฟื้นตัวนานสักนิด แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็ดีกว่ามากทีเดียว
มดลูกอักเสบเป็นโรคที่อันตรายกับสุนัขไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นการที่คุณตัดสินใจเลือกที่จะเลี้ยงสุนัขสักตัว คุณจะต้องวางแผนการดูแลให้ดี หากคุณคิดว่าไม่ต้องการให้สุนัขขยายพันธุ์แล้ว เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมคุณจะต้องพาสุนัขของคุณไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาและทำหมันทันที นั่นก็เพราะว่าการทำหมันถือเป็นวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดมดลูกอักเสบในสุนัขได้ดีที่สุด และเป็น วิธีรักษามดลูกอักเสบในสุนัข ที่ปลอดภัยมากที่สุดอีกด้วย เนื่องจากการทำหมันจะส่งผลข้างเคียงต่อสุนัขน้อยมาก อีกทั้งการดูแลหลังผ่าตัดก็ไม่ยากจนเกินไป ซึ่งดีกว่าการที่คุณปล่อยไว้จนสุนัขเกิดโรคมดลูกอักเสบแล้วทำการรักษาอย่างแน่นอน เพราะการรักษาภายหลังทำให้เกิดความเสี่ยงมากกว่า และส่งผลเสียต่อสุขภาพสุนัขเป็นอย่างมากอีกด้วย ดังนั้นคุณจึงควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้มาก หากไม่ต้องการสูญเสียสุนัขก่อนวัยอันควร เพราะหากเกิดโรคแล้วการรักษาค่อนข้างที่จะเสี่ยงและอันตรายนั่นเอง
อ่านเรื่องราวสาระสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ เพิ่มเติม