สุนัขมีตุ่มขึ้นตามตัว เป็นปัญหาผิวหนังที่พบได้มากและบ่อยครั้งในสุนัข ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดตุ่มขึ้นบนผิวหนังมีด้วยกันหลายสาเหตุ โดยตุ่มแต่ละชนิดจะมีความรุนแรงและอันตรายที่ก่อให้เกิดกับตัวสุนัขแตกต่างกันออกไป ดังนั้นเพื่อความแน่ใจต้องพิจารณาว่าตุ่มที่เกิดขึ้นบนผิวหนังเป็นตุ่มชนิดที่อันตรายหรือไม่ ซึ่งเราจะพาคุณไปทำความเข้าใจกัน
สุนัขตุ่มขึ้นตามตัว มีกี่ชนิด
ตุ่มที่ขึ้นบนผิวหนังของสุนัขมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด แต่เราสามารถทำการจัดแบ่งชนิดของตุ่มตามลักษณะของตุ่มที่สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า ดังนี้
ตุ่มแข็งหรือตุ่มแดง
ตุ่มชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นตุ่ม ไตแข็งและนูนขึ้นมาบนผิวหนัง ตุ่มจะมีสีแดงหรือสีชมพู โดยจะมีอยู่ 2 แบบ คือ ตุ่มที่มีขนาดประมาณ 1 เซนติเมตรจะเรียกว่า papule แต่ถ้ามีขนาดมากกว่า 1 เซนติเมตร จะเรียกว่า plague ตุ่มชนิดนี้ส่วนมากที่พบจะเป็นรอยโรคที่ได้รักษาหายแล้ว เช่น รอยโรคภูมิแพ้ผิวหนังจากการสัมผัส รอยโรคผิวหนังอักเสบเป็นหนอง รอยโรคภูมิแพ้น้ำลายหมัด รอยโรคขี้เรื้อนแห้ง รอยโรคขี้เรื้อนเปียก รอยโรคภูมิแพ้ละอองอากาศหรืออาการแพ้ยา เป็นต้น
ตุ่มหนอง (pustule)
ตุ่มหนองจะเป็นตุ่มที่นูนขึ้นมาจากผิวหนังและมีหนองอยู่ภายใน ซึ่งหนองจะสะสมอยู่ใต้ชั้นหนังกำพร้า ไม่ได้ลึกเข้าไปในผิวหนังชั้นใน หนองที่อยู่ภายในตุ่มเกิดขึ้นจากการสะสมของเซลล์ที่มีภาวะอักเสบชนิด neutrophils หรือ eosinophils โดยตุ่มหนองจะมีสีเหลืองหรือสีเขียวก็ได้ ขึ้นอยู่กับสีของหนองที่สะสมอยู่ใต้ผิวหนังนั่นเอง
ก้อนนูน (nodule)
เป็นก้อนเนื้อหรือตุ่มที่มีลักษณะกลมแข็งยื่นออกมาจากชั้นผิวหนัง มีขนาดใหญ่สุดที่ประมาณ 1 เซนติเมตร ตุ่มนี้จะมีต้นกำเนิดอยู่ที่บริเวณผิวหนังชั้นล่างที่โตขึ้นมาจนดันผิวหนังชั้นบนให้นูนขึ้น ซึ่งสามารถสังเกตเห็นเป็นตุ่มนูน ๆ หรือตุ่มขนาดใหญ่บริเวณผิวหนังด้านนอกได้
สาเหตุที่ทำให้สุนัขมีตุ่มตามตัว
สาเหตุที่ทำให้สุนัขมีตุ่มตามตัวมีอยู่หลากหลายด้วยกัน แต่ที่พบบ่อยที่สุดก็มีดังนี้
ตุ่มจากอาการแพ้สิ่งแวดล้อม
อาการแพ้เป็นสาเหตุที่ทำให้สุนัขมีตุ่มตามตัวมากที่สุด ซึ่งสิ่งก่อภูมิแพ้ที่ทำให้สุนัขเกิดภาวะภูมิแพ้ที่พบได้บ่อย คือ ละอองเกสร เชื้อรา ไรฝุ่น โดยเมื่อสุนัขได้สัมผัสหรือสูดดมสิ่งก่อภูมิแพ้เหล่านี้เข้าไป ร่างกายจะเกิดปฏิกิริยาการต่อต้านออกมาเป็นผื่นหรือตุ่มบริเวณผิวหนังขึ้น และอาจเกิดอาการผิวหนังอักเสบได้นั่นเอง
ตุ่มจากอาการแพ้น้ำลายปรสิต
ปรสิตที่เป็นสาเหตุก่ออาการแพ้ให้กับสุนัข คือ หมัด ไร เห็บ ซึ่งสุนัขจะแพ้น้ำลายของปรสิต ไม่ได้แพ้ตัวปรสิต เนื่องจากในน้ำลายของปรสิตจะมีสารประกอบลักษณะคล้ายฮิสตามีนที่ทำหน้าที่เป็นเอนไซม์สำหรับย่อยสลายโปรตีนและเป็นสารต้านการแข็งตัวของเลือด เมื่อสารชนิดนี้สัมผัสกับผิวหนังของสุนัขจะก่อให้เกิดการอักเสบและเป็นตุ่ม ดังนั้นหากปรสิตไม่ได้กัดสุนัข ก็จะไม่เกิดอาการแพ้ แต่ถ้าปรสิตกัดสุนัขและน้ำลายไปสัมผัสกับผิวหนังจะทำให้แพ้ได้ทันที ซึ่งขนาดกับจำนวนของตุ่มที่เกิดขึ้นจากการแพ้น้ำลายปรสิตจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับปริมาณของน้ำลายและความรุนแรงของอาการแพ้ในสุนัขแต่ละตัวด้วย
ตุ่มจากโรคฮอร์โมนผิดปกติ
สุนัขที่มีอาการป่วยของโรคที่เกี่ยวกับฮอร์โมน เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ เป็นต้น ซึ่งอาการป่วยเกี่ยวกับความผิดปกติของฮอร์โมนจะทำให้ สุนัขมีตุ่มตามตัว เกิดขึ้นได้
ตุ่มจากการติดเชื้อ
เชื้อโรคที่ก่อให้เกิดตุ่มบนผิวหนังมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก คือ
- เชื้อแบคทีเรียเป็นเชื้อที่อาศัยอยู่บนผิวหนังของสุนัขและอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวอยู่แล้ว หากสุนัขมีสุขภาพที่แข็งแรงดี เชื้อแบคทีเรียนี้จะไม่สามารถทำให้สุนัขเกิดเป็นตุ่มติดเชื้อได้ แต่หากสุนัขมีปัญหาด้านสุขภาพหรืออยู่ในภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เชื้อแบคทีเรียจะเข้าไปก่อให้เกิดการติดเชื้อ อักเสบที่บริเวณใต้ชั้นหนังกำพร้า จนเกิดเป็นตุ่มแดงหรือตุ่มหนองได้นั่นเอง
- เชื้อราเป็นเชื้อที่พบได้ตามร่างกายสุนัขที่มีขนยาวหรืออยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นประจำ ซึ่งในภาวะปกติเชื้อราจะไม่แสดงอาการหรือทำให้เกิดตุ่ม แต่จะก่อให้เกิดตุ่มก็ต่อเมื่อสุนัขมีอาการป่วยของโรคความผิดปกติของฮอร์โมนหรือความบกพร่องทางภูมิคุ้ม เชื้อราจะเข้าไปทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนหลายอย่างกับสุนัข และการที่สุนัขมีตุ่มตามตัวถือเป็นหนึ่งในอาการแทรกซ้อนที่พบได้
จะเห็นว่าสาเหตุของตุ่มบนตัวสุนัขที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุหลักของการเกิดตุ่ม คือ อาการแพ้จากภาวะที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ ดังนั้นหากสามารถป้องกันไม่ให้ภูมิคุ้มกันของสุนัขอ่อนแอและหลีกเลี่ยงกับสิ่งที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดตุ่มได้นั่นเอง
การป้องกันไม่ให้สุนัขมีตุ่มตามตัว
จะพบว่าสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้สุนัขเกิดตุ่มตามตัว ก็คือ อาการแพ้ต่าง ๆ ซึ่งอาการแพ้นี้จะแสดงออกมาเป็นตุ่มอย่างชัดเจนก็ต่อเมื่อสุนัขมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้สุนัขเกิดตุ่มจึงต้องสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงให้กับสุนัข โดยวิธีการสร้างภูมิคุ้มกันทำได้ดังนี้
1. เสริมสารอาหาร
อาหารสำหรับสุนัขถือเป็นแหล่งที่ช่วยเสริมภูมิต้านทานของร่างกายที่ดี เพราะสุนัขที่ได้รับสารอาหารครบถ้วนและตรงตามความต้องการจะช่วยให้มีภูมิต้านทานที่แข็งแรง ลดความเสี่ยงที่สุนัขมีตุ่มตามตัวได้ โดยสารอาหารที่ควรเสริมให้กับสุนัขเพื่อเพิ่มภูมิต้านทาน คือ
- โปรตีนที่เหมาะสำหรับสุนัขที่จะเข้ามาช่วยซ่อมแซมและสร้างความแข็งแรงให้ร่างกายและผิวหนังของสุนัข คือ โปรตีนจากเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมู เนื้อแกะ เนื้อกวาง เนื้อเป็ด เป็นต้น โดยเฉพาะเนื้อเป็ดและเนื้อกวางถือว่าเป็นเนื้อที่มีโปรตีนที่เหมาะกับการสร้างภูมิต้านทานที่สุด
- กรดไขมันจำเป็น ร่างกายของสุนัขมีความต้องการกรดไขมันอยู่หลายชนิด ซึ่งกรดไขมันที่ต้องการและจำเป็นมากที่สุด คือ กรดไขมันโอเมกา-3 และโอเมกา-6 โดยกรดไขมันชนิดนี้จะพบได้ในน้ำมันปลาหรือเนื้อปลาทะเลน้ำลึก โดยกรดไขมันจะเข้าไปบำรุงผิวหนังสุนัขให้มีความชุ่มชื้น ลดความเสี่ยงการเกิดตุ่มอักเสบบนผิวหนังสุนัขได้เป็นอย่างดี
2. การออกกำลังกาย
การออกกำลังกายเป็นการเสริมภูมิต้านทานอีกอย่างหนึ่งที่ได้ผลดี โดยการออกกำลังกายจะต้องทำควบคู่กับการเสริมสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งการออกกำลังกายสำหรับสุนัขไม่จำเป็นต้องหนักหน่วง แต่อาจเป็นการวิ่งหรือเดินเล่นก็ถือเป็นการออกกำลังกายที่ช่วยเสริมความภูมิต้านทานได้แล้ว นอกจากนั้นการออกกำลังกายยังเป็นการลดความเครียด ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สุนัขมีตุ่มตามตัว เนื่องจากภาวะภูมคุ้มกันอ่อนแอด้วย
3. หลีกเลี่ยงจากสิ่งที่แพ้
นอกจากเสริมภูมิต้านทานให้กับสุนัขแล้ว เจ้าของควรทำการตรวจว่าสุนัขจะมีตุ่มเกิดขึ้นตามตัวจากสาเหตุใด เพื่อที่จะได้หลีกเลี่ยงไม่ให้สุนัขเข้าใกล้หรือสัมผัสกับสิ่งที่ก่อให้เกิดตุ่ม
จะเห็นว่าการป้องกันไม่ให้สุนัขมีตุ่มตามตัวเป็นเรื่องที่ไม่ยาก เพราะตุ่มตามตัวสุนัขที่เกิดขึ้นส่วนมากจะเกิดจากการที่สุนัขมีร่างกายหรือภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ดังนั้นหากเราเสริมความแข็งแรงให้กับสุนัขได้แล้ว โอกาสที่จะเกิดตุ่มตามตัวย่อมมีน้อยหรือหากมีตุ่มเกิดขึ้นจริง ก็มีความรุนแรงเพียงเล็กน้อย ทำให้รักษาได้ง่าย
การรักษาสุนัขมีตุ่มตามตัว
การรักษาสุนัขที่มีตุ่มเกิดขึ้นตามตัวมีขั้นตอนการดูแลรักษา เพื่อลดความรุนแรงของตุ่มได้ดังนี้
อาบน้ำ
อาบน้ำสุนัขด้วยแชมพูสำหรับสุนัขโดยเฉพาะ และควรเลือกสูตรอ่อนโยนต่อผิวหรือเป็นสูตรที่ใช้สารจากธรรมชาติ เพราะสุนัขมีตุ่มตามตัวจะมีผิวหนังที่อ่อนแอ ดังนั้นหากใช้แชมพูสูตรรุนแรงหรือมีสารเคมีทั้งหมดจะทำให้ผิวหนังเกิดอาการอักเสบและเป็นตุ่มมากขึ้นได้ การอาบน้ำจะเป็นการขจัดสิ่งก่อภูมิแพ้ทั้งจากสิ่งแวดล้อมและน้ำลายของปรสิตที่อยู่บนผิวหนัง ทำให้อาการตุ่มแพ้มีอาการลดลง นอกจากนั้นหลังอาบน้ำควรทำการเช็ดตัว เป่าขนสุนัขให้แห้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนังด้วย
พบสัตวแพทย์
หากทำความสะอาดและดูแลสุนัขเป็นอย่างดี ทั้งด้านอาหารและการออกกำลังกายแล้ว อาการสุนัขมีตุ่มตามตัวยังไม่ดีขึ้น ควรพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการรักษาด้วยยา เพราะว่าตุ่มบางชนิดมีสาเหตุมาจากอาการป่วยที่ไม่ใช่ปัจจัยภายนอก ซึ่งหากไม่รีบรักษาอาการป่วยอาจจะรุนแรงมากขึ้นได้ ดังนั้นจึงควรพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยถึงสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้สุนัขเกิดตุ่มตามตัว เพื่อที่จะได้รักษาให้หายขาดต่อไป
ที่กล่าวมานี้เป็นการดูแล สุนัขมีตุ่มขึ้นตามตัว ที่ถูกต้อง ดังนั้นหากสุนัขของคุณมีตุ่มเกิดขึ้นไม่ว่าบริเวณใด ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กล่าวมานี้ รับรองว่าตุ่มที่เกิดขึ้นจะหายขาดอย่างแน่นอน
อ่านเรื่องราวสาระสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ เพิ่มเติม