สำหรับผู้เลี้ยงสุนัขที่เพิ่งรับเลี้ยงสมาชิกใหม่เข้ามาในบ้าน ส่วนมากทุกคนจะมีความกังวลและเป็นห่วงใยลูกสุนัขมากเป็นพิเศษ แต่บางครั้งก็ไม่ได้สังเกตถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น เพราะคิดว่าเป็นเรื่องปกติของลูกสุนัขทุกตัว หรือบางคนก็มีความวิตกกังวลจนต้องพาลูกสุนัขไปพบสัตวแพทย์วันเว้นวัน โดยเฉพาะเมื่อลูก สุนัขมีหนอง เป็นตุ่มเกิดขึ้นที่บริเวณผิวหนัง เจ้าของมือใหม่จะมีความวิตกมากขึ้นเป็นสองเท่า ด้วยกลัวว่าลูกสุนัขจะเป็นอันตราย ดังนั้นวันนี้เรามาดูกันว่าตุ่มหนองในสุนัขนั้นอันตรายหรือไม่
ลักษณะของลูกสุนัขมีหนองเป็นตุ่ม
การที่สุนัขมีหนองเป็นตุ่มเกิดขึ้นสามารถพบได้มากในลูกสุนัขมากกว่าสุนัขโต ซึ่งตุ่มที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะเป็นผื่นนูนขนาดเล็ก มีสีแดงในช่วงแรกและกลายเป็นสีขาวหรือสีเหลืองที่บริเวณตรงกลางผื่น โดยสีขาวหรือสีเหลืองเป็นสีของหนองที่สะสมอยู่บริเวณชั้นหนังกำพร้า (epidermis) ของสุนัขนั่นเอง การที่สุนัขมีหนองเป็นตุ่มเกิดจากการสะสมของเซลล์อักเสบชนิด neutrophils หรือ eosinophils หรือการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังชั้นนอก ส่งผลให้ตุ่มมีสีเหลืองหรือสีขาวที่บริเวณใต้ผิวหนัง บริเวณที่สามารถพบตุ่มได้มากในลูกสุนัข คือ บริเวณใต้ท้องและบริเวณใกล้กับอวัยวะเพศ โดยช่วงแรกตุ่มจะมีขนาดเล็กและจะมีการขยายขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนมีการแตกออกของหนองที่อยู่ภายในตุ่ม ทำให้เกิดแผลที่มีสะเก็ดสีเหลืองปนน้ำตาลขึ้นในระยะเวลาต่อมา
สาเหตุที่ทำให้ลูกสุนัขมีหนองเป็นตุ่ม
ลูกสุนัขเกือบทุกตัวสามารถพบตุ่มหนองเกิดขึ้นได้ไม่มากก็น้อย แต่เชื่อว่าลูกสุนัขทุกตัวจะต้องมีตุ่มหนองเกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ลูกสุนัขมีหนองเป็นตุ่มนั้นยังไม่มีงานวิจัยที่ระบุแน่ชัดถึงสาเหตุ แต่ได้มีการสังเกตและเก็บรวมรวบลักษณะทางกายภาพที่ทำให้เกิดตุ่มหนองในลูกสุนัข พบว่าสาเหตุที่ทำให้ลูกสุนัขมีตุ่มหนองมีอยู่ด้วยกันดังนี้
ความอับชื้น
โดยเฉพาะบริเวณใต้ท้องและใกล้ ๆ กับอวัยวะเพศเป็นจุดที่จะต้องสัมผัสกับความชื้นทั้งจากเวลาการนอนหรือหลังจากการปัสสาวะ ซึ่งลูกสุนัขมีกระบวนการทำความสะอาดที่ไม่ดี ทำให้มีความชื้นจากปัสสาวะติดอยู่ที่บริเวณอวัยวะเพศและหน้าท้อง เมื่อมีความชื้นสะสมและมีเชื้อแบคทีเรียเข้ามา ทำให้ลูกสุนัขมีหนองเป็นตุ่มเกิดขึ้นที่บริเวณหน้าท้องและอวัยวะเพศ ดังจะสังเกตได้ว่าอาการแบบนี้จะพบได้ในลูกสุนัขมากกว่าในสุนัขที่โตแล้วนั่นเอง
ระบบภูมิต้านทานไม่แข็งแรง
ลูกสุนัขที่เพิ่งเกิดหรือมีอายุยังไม่ครบปีถือเป็นช่วงที่ระบบภูมิคุ้มกันของสุนัขยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ ทำให้มีโอกาสที่เชื้อโรคต่าง ๆ จะเข้ามาทำร้ายร่างกายได้ง่าย โดยเฉพาะบริเวณผิวหนังที่ยังมีความบอบบาง ดังนั้นเมื่อมีเชื้อแบคทีเรียเข้ามาทำปฏิกิริยากับผิวหนัง ร่างกายจะเกิดการต่อต้านจึงสร้างเป็นหนองขึ้นมา ซึ่งเป็นสาเหตุอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้สุนัขมีหนองเป็นตุ่ม
อาการสุนัขมีหนองเป็นตุ่ม
ตุ่มหนองในลูกสุนัขนี้เป็นอาการติดเชื้อที่อวัยวะภายนอก คือ ผิวหนัง ซึ่งง่ายต่อการสังเกตของผู้เลี้ยงและยังช่วยให้ทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที ซึ่งอาการที่สามารถสังเกตได้ คือ
มีผื่นแดง
บริเวณที่มีอาการอักเสบหรือติดเชื้อจะกลายเป็นตุ่มหนอง ซึ่งในช่วงแรกจะมีผื่นแดงขนาดเล็กเกิดขึ้นก่อน โดยผื่นที่เกิดขึ้นนี้จะมีขนาดเล็ก แต่ก็ยังสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า และหากปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้รับการดูแลหรือรักษา ผื่นก็จะมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นและที่บริเวณจุดกึ่งกลางของผื่นจะเริ่มมีสีขาวเกิดขึ้น ซึ่งส่วนของสีขาวนี้จะขยายวงกว้างและกลายเป็นสีเหลืองอ่อนหรือสีเขียว แสดงว่ามีการติดเชื้อและอักเสบที่บริเวณใต้ผิวหนังนั่นเอง
อาการคัน
จุดเริ่มต้นที่ทำให้สุนัขมีหนองเป็นตุ่มจะเกิดจากความอับชื้นและมีการติดเชื้อแบคทีเรียในเวลาต่อมา ดังนั้นสุนัขที่มีตุ่มหนองจะมีอาการคันที่ผิวหนังร่วมด้วยเสมอ โดยอาการคันจะเกิดขึ้นบริเวณที่เป็นผื่น ซึ่งลูกสุนัขจะเกาในบริเวณดังกล่าว จนทำให้ผื่นหรือตุ่มแตกออกกลายเป็นแผลและหากไม่ทำการรักษาแล้ว แผลที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นแผลเปื่อยได้
อาการที่เกิดขึ้นจากการที่สุนัขมีหนองเป็นตุ่มจะมีไม่มาก เพราะเป็นอาการอักเสบติดเชื้อที่ผิวหนังภายนอกเท่านั้น ไม่ได้มีผลกระทบกับอวัยวะภายใน จึงไม่มีอาการซึม เบื่ออาหารร่วมด้วย และเมื่อเจ้าของสังเกตเห็นว่าลูกสุนัขเป็นตุ่มมีหนองเกิดขึ้นแล้ว ควรรีบทำความสะอาด ตุ่มที่เกิดขึ้นก็จะหายไปได้เอง แต่หากไม่ดูแลทำความสะอาดแล้ว อาการติดเชื้ออาจจะลุกลามเป็นวงกว้างจนต้องพาลูกสุนัขไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการรักษาเลยทีเดียว
การดูแลรักษาลูกสุนัขมีหนองเป็นตุ่ม
สำหรับลูกสุนัขที่เป็นตุ่มหนองเกิดขึ้น หากเจ้าของสังเกตเห็นตั้งแต่อาการยังเป็นไม่มาก สามารถทำการดูแลเบื้องต้นเพื่อเป็นการรักษาตุ่มหนองให้หายไปได้ดังนี้
ทำความสะอาด
สาเหตุที่ทำให้ลูกสุนัขมีหนองเป็นตุ่มที่บริเวณผิวหนังเกิดจากความสิ่งสกปรกเข้าไปสะสมที่บริเวณผิวหนัง โดยเฉพาะปัสสาวะที่เช็ดทำความสะอาดไม่หมด ดังนั้นเจ้าของจะต้องทำความสะอาดที่บริเวณใต้ท้องและรอบอวัยวะเพศเป็นประจำ อย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง เพื่อลดการสะสมของสิ่งสกปรกหรือเชื้อแบคทีเรียที่บริเวณหน้าท้องและรอบอวัยวะเพศ
อาบน้ำ
การอาบน้ำลูกสุนัขถือว่าเป็นการทำความสะอาดที่ดีอีกอย่างหนึ่ง เพราะเชื้อโรคบางชนิดไม่สามารถขจัดออกไปได้ด้วยการเช็ดหรือล้างด้วยน้ำเปล่า แต่สามารถขจัดได้ด้วยแชมพูสำหรับสุนัข ดังนั้นเจ้าของควรทำการอาบน้ำให้ลูกสุนัขอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ทว่าถึงแม้จะต้องการขจัดเชื้อโรคมากแค่ไหนก็ควรเลือกแชมพูที่อ่อนโยนต่อผิวของสุนัขด้วย เพราะหากใช้แชมพูรุนแรงมากเกินไป ก็จะทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคืองและเกิดผื่นแพ้หรือผิวหนังอักเสบได้ นอกจากนี้หลังจากที่ทำการอาบน้ำเสร็จแล้ว จะต้องเช็ดและเป่าขนของสุนัขให้แห้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความชื้นสะสมบนผิวหนัง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรคเชื้อราบนผิวหนังและยังเป็นการป้องกันไม่ให้ลูกสุนัขมีหนองเป็นตุ่มด้วย
ให้อาหารเสริมภูมิต้านทาน
ลูกสุนัขเป็นวัยที่มีภูมิต้านทานตามธรรมชาติน้อย ทำให้ง่ายต่อการติดเชื้อต่าง ๆ ดังนั้นเจ้าของควรให้อาหารที่เหมาะสมกับวัยและเลือกอาหารที่เสริมความแข็งแรงให้กับร่างกายและผิวหนังเป็นพิเศษ ไม่เน้นปริมาณของอาหารแต่เน้นคุณภาพของอาหารเป็นหลัก เพราะเมื่อร่างกายมีภูมิต้านทานที่สูง โอกาสที่จะติดเชื้อตามผิวหนังก็จะน้อยตามไปด้วย สำหรับการเลี้ยงลูกสุนัขแต่ละสายพันธุ์จะมีปริมาณและชนิดของอาหารที่เหมาะสมต่างกันออกไป หากต้องการให้ลูกสุนัขได้รับสารอาหารที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการจริง ๆ สามารถปรึกษาสัตวแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการสุนัขได้ แล้วสุนัขจะมีภูมิต้านทานโรคสูงตั้งแต่อายุน้อย และลดโอกาสที่จะทำให้ลูกสุนัขมีหนองเป็นตุ่มด้วย
ฉีดวัคซีนให้ครบ
ลูกสุนัขทุกตัวควรได้รับการฉีดวัคซีนที่ครบตามกำหนด เพราะการฉีดวัคซีนนอกจากจะเป็นการป้องกันโรคใดโรคหนึ่งโดยเฉพาะแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างภูมิต้านทานให้กับลูกสุนัขอีกด้วย เพราะในปัจจุบันนี้โรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในคนและสัตว์ต่างก็มีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นการฉีดวัคซีนถือเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด
จะเห็นว่าการดูแลลูก สุนัขมีหนอง เป็นตุ่มนั้นไม่ยาก เพียงแต่จะต้องมีความเอาใจใส่ดูแลลูกสุนัข ตั้งแต่การทำความสะอาด การอาบน้ำ การเตรียมอาหารและการฉีดวัคซีนให้ครบ ซึ่งทุกสิ่งที่กล่าวมานี้จะเป็นการป้องกันไม่ให้ลูกสุนัขเป็นตุ่มหนองได้ เพราะถึงแม้ว่าสุนัขเป็นตุ่มหนองจะไม่ได้อันตรายร้ายแรงถึงชีวิตและสร้างความทรมานเล็กน้อยเท่านั้น แต่เจ้าของก็ควรทำการดูแลรักษาตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา เช่น แผลเปื่อย เป็นต้น
อ่านเรื่องราวสาระสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ เพิ่มเติม;