ชิวาว่าเป็นสุนัขพันธุ์เล็กที่สุดในโลก ซึ่งในจำนวนนี้มีอยู่ไม่น้อยที่ท้องแล้วต้องผ่าคลอด เพราะไม่สามารถคลอดเองได้ตามธรรมชาติ ดังนั้น ผู้เลี้ยงจึงต้องพาชิวาว่าไปตรวจและฝากท้องกับแพทย์เพื่อความปลอดภัย อีกทั้งยังต้องรู้จักสังเกตอาการสุนัขชิวาว่าใกล้คลอดเพื่อที่จะได้เตรียมตัวในการดูแลได้อย่างทันท่วงที
อาการสุนัขชิวาว่าใกล้คลอด เป็นอย่างไร?
ชิวาว่านั้นเป็นสุนัขสายพันธุ์เล็กที่มีผู้นิยมเลี้ยงกันอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย เพราะนอกจากจะตัวเล็กกะทัดรัด พาไปไหนมาไหนได้สะดวกแล้ว ก็ยังเป็นสุนัขที่มีนิสัยน่ารัก เป็นมิตร และจงรักภักดีกับผู้เลี้ยงอย่างมาก ซึ่งมีหลายคนนำน้องไปผสมพันธุ์เพื่อที่จะได้มีลูกชิวาว่าตัวน้อยๆ อีกหลายตัวออกมาเชยชม แต่ด้วยความที่เป็นสุนัขพันธุ์เล็กจึงทำให้มีความเสี่ยงในการคลอดได้มากกว่าปกติ ดังนั้น ผู้เลี้ยงจึงต้องรู้จักสังเกตอาการสุนัขชิวาว่าใกล้คลอดเพื่อที่จะได้เตรียมตัวในการช่วยเหลือการคลอด รวมถึงรู้จักภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจทำให้แม่ชิวาว่าเป็นอันตราย ทั้งนี้จะได้รีบนำไปส่งต่อให้ถึงมือแพทย์ได้อย่างทันท่วงที
วิธีสังเกตอาการสุนัขชิวาว่าใกล้คลอดในแต่ละช่วงสัปดาห์
เมื่อชิวาว่าเริ่มตั้งท้องและใกล้คลอด จะมีอาการแสดงและความเปลี่ยนแปลงต่างๆ รวมถึงอาการสุนัขชิวาว่าใกล้คลอดเป็นอย่างไร สามารถดูได้ดังรายละเอียดต่อไปนี้
สัปดาห์ที่ 1
สัปดาห์แรกหลังการปฏิสนธิ ชิวาว่าจะไม่ดูแตกต่างไปจากเดิมและอาจไม่แสดงสัญญาณใดๆ ว่ากำลังตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม การตั้งครรภ์จะสร้างการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนภายในร่างกายที่อาจทำให้ชิวาว่าบางตัวมีอาการแพ้ท้องหรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงได้
สัปดาห์ที่ 2
ในระยะนี้เซลล์ในตัวอ่อนจะเริ่มพัฒนาและเคลื่อนตัวไปยังมดลูก ซึ่งในระยะดังกล่าวตัวอ่อนยังไม่ได้ต้องการสารอาหารเพื่อการเจริญเติบโตมากนัก ดังนั้น ชิวาว่าอาจจะยังไม่ต้องการสารอาหารมากขึ้นกว่าเดิมและยังสามารถวิ่งเล่นออกกำลังกายได้ตามปกติ
สัปดาห์ที่ 3
ตัวอ่อนจะเริ่มเติบโตและพัฒนาเร็วขึ้น แต่ก็ยังมีขนาดเล็กมาก ดังนั้น รูปลักษณ์ภายนอกของชิวาว่าจึงยังดูไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่อาจมีความอยากอาหารเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังสามารถวิ่งเล่นและออกกำลังกายได้ตามปกติ
สัปดาห์ที่ 4
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายจะสามารถเห็นได้ชัดเจนขึ้น โดยในช่วงนี้เจ้าของควรพาชิวาว่าไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและฝากครรภ์ นอกจากนี้ก็ยังควรเพิ่มปริมาณอาหาร โดยเน้นสารอาหารประเภทโปรตีนและแคลเซียมให้มากขึ้นเพื่อบำรุงทั้งแม่และลูกชิวาว่าที่อยู่ในท้อง อีกทั้งยังต้องเริ่มจำกัดกิจกรรม เพราะมีความเสี่ยงมากที่จะแท้งลูกและเสี่ยงทำให้เกิดพัฒนาการที่ผิดปกติ หากชิวาว่าทำกิจกรรมและออกกำลังกายหนักเกินไป
สัปดาห์ที่ 5
ตอนนี้ตัวอ่อนในครรภ์จะเริ่มมีน้ำหนักขึ้นเร็วขึ้น ทำให้ชิวาว่ามีน้ำหนักเพิ่มขึ้นและตัวดูกลมโตขึ้นกว่าปกติ มีความต้องการอาหารมากขึ้น ดังนั้น จึงควรเริ่มให้อาหารลูกสุนัขหรือสูตรพิเศษสำหรับสุนัขตั้งท้องและให้นมลูก
สัปดาห์ที่ 6
ในช่วงเวลานี้ ชิวาว่าจะเริ่มตัวไม่เล็กอีกต่อไป เพราะจะมองจากภายนอกได้ชัดเจนว่าท้องกลมใหญ่ขึ้น ซึ่งชิวาว่าท้องจะมีขนาดหน้าท้องที่ขยายใหญ่กว่าสุนัขสายพันธุ์อื่นอันเนื่องมาจากเป็นสุนัขพันธุ์เล็กมาก อย่างไรก็ตาม ในตอนนี้ชิวาว่าจะเริ่มมีความอยากอาหารมากขึ้นกว่าเดิม แต่บางตัวอาจเบื่ออาหารและกินน้อยลงเนื่องจากท้องโตและรู้สึกอึดอัด ซึ่งถ้าเป็นอย่างหลังควรเปลี่ยนมาให้อาหารมื้อละน้อยๆ แต่บ่อยขึ้น
สัปดาห์ที่ 7
ลูกชิวาว่าในท้องจะตัวโตมากขึ้น ทำให้แม่สุนัขชิวาว่าเริ่มรู้สึกอึดอัดอุ้ยอ้าย รวมถึงมีความเฉื่อยชามากกว่าเดิม ดังนั้น ผู้เลี้ยงจึงควรเตรียมพื้นที่ที่สงบและเป็นส่วนตัวให้แม่ชิวาว่าได้พักผ่อน เพื่อช่วยในการลดความเครียดและสิ่งกระตุ้น นอกจากนี้ ยังควรเตรียมพื้นที่ให้พอสำหรับเลี้ยงลูกสุนัขที่กำลังจะคลอดมาด้วย
สัปดาห์ที่ 8
ชิวาว่าหลายตัวอาจจะมีการคลอดในสัปดาห์นี้ได้ ดังนั้น จึงควรเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ โดยในตอนนี้คุณอาจจะสังเกตเห็นลูกชิวาว่าในท้องดิ้นและเคลื่อนไหวอยู่ภายในท้อง ซึ่งเป็นอาการสุนัขชิวาว่าใกล้คลอดนั่นเอง ส่วนแม่ชิวาว่าอาจมีอาการเซื่องซึมและนอนมากขึ้น มีการขยับตัวน้อยลงซึ่งควรปล่อยให้พัก ไม่จำเป็นต้องไปกระตุ้นให้เคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมต่างๆ
สัปดาห์ที่ 9
ลูกสุนัขในท้องจะมีการเติบโตเต็มที่และแม่ชิวาว่าก็พร้อมจะคลอดได้ทุกเมื่อ ในช่วงนี้อาจจะเริ่มวัดอุณหภูมิร่างกายเพื่อดูว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่อุณหภูมิลดลงต่ำกว่าปกติก็เป็นสัญญาณว่ากำลังจะคลอดในอีกไม่นาน
อาการสุนัขชิวาว่าใกล้คลอด มีอาการอะไรบ้าง?
เมื่อแม่ชิวาว่าใกล้จะได้เวลาคลอด จะมีอาการที่สามารถสังเกตเห็นได้ดังต่อไปนี้
1.มีอาการกระวนกระวายจากที่เซื่องซึมและนอนอยู่ตลอด แม่ชิวาว่าจะเริ่มมีอาการกระวนกระวายอยู่ไม่สุข เริ่มเขี่ยผ้าและหาที่มืดๆ เงียบๆ อยู่
2.อุณหภูมิในตัวลดต่ำลงกว่าปกติ โดยก่อนที่จะคลอดประมาณ 10 -12 ชั่วโมง ชิวาว่าจะมีอุณหภูมิร่างกายที่ลดต่ำลงซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าใกล้จะถึงเวลาคลอดในอีกไม่นาน ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเจ้าของจึงต้องวัดอุณหภูมิของชิวาว่าอย่างสม่ำเสมอเมื่อชิวาว่าเริ่มเข้าสู่สัปดาห์ท้ายๆ ของการตั้งท้อง
3.เริ่มมีการคุ้ยเขี่ยผ้าและมีน้ำใสๆ ไหลออกมาจากช่องคลอด ซึ่งเป็นอาการสุนัขชิวาว่าใกล้คลอดที่เริ่มเห็นอย่างเด่นชัด โดยจะมีอาการเหมือนเบ่งคลอด ซึ่งหากน้ำใสๆ เริ่มไหลออกมามากขึ้นเรื่อยๆ แสดงว่าถุงน้ำคร่ำเริ่มแตกแล้วและอีกไม่นานก็จะถึงเวลาคลอดแน่นอน
4.อาการสุนัขชิวาว่าใกล้คลอดที่สังเกตได้อย่างเห็นชัดมากที่สุดอีกอย่างหนึ่งก็คือ น้ำใสๆ ไหลออกจากช่องคลอดมากขึ้น และเริ่มมีหัวหรือเท้าของลูกสุนัขโผล่ออกมาจากช่องคลอด ผู้เลี้ยงควรดูแลให้แม่ชิวาว่ากัดถุงหุ้มและเลียตัวลุกสุนัข แต่หากแม่ชิวาว่าหมดแรงทำไม่ไหว ผู้เลี้ยงควรช่วยดูแลให้ เพราะไม่เช่นนั้นลูกสุนัขอาจจะตายได้
เนื่องจากชิวาว่าจำนวนมากมีปัญหาในการคลอดยาก เพราะเชิงกรานค่อนข้างเล็ก ดังนั้น เมื่อเห็นว่าถุงน้ำคร่ำแตกและแม่สุนัขเบ่งจนหมดแรง รวมถึงมีอาการท้องแข็งมากแล้วลูกสุนัขยังไม่ออกมา หรือคลอดออกมาแล้วแต่ยังออกไม่ครบแต่แม่สุนัขหมดแรงเบ่งแล้ว ควรรีบพาสุนัขไปพบแพทย์เพื่อช่วยเหลือในการคลอด ไม่เช่นนั้น อาจเกิดอันตรายต่อทั้งแม่และลูกในท้องได้
เมื่อสุนัขชิวาว่าเริ่มตั้งท้องจะมีอาการอย่างไร?
นอกจากจะต้องศึกษาเรียนรู้ถึงอาการสุนัขชิวาว่าใกล้คลอดแล้ว คนเลี้ยงก็ต้องศึกษาเรียนรู้เรื่องการตั้งท้องของน้องหมาด้วย ซึ่งเมื่อชิวาว่าท้อง สิ่งที่ผู้เลี้ยงจะต้องทำก็คือ ต้องพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและฝากท้องทันที รวมถึงปรึกษาแพทย์เรื่องการวางแผนการคลอด เพราะชิวาว่าจำนวนมากมีปัญหาในเรื่องของการคลอดเองยาก หากไม่เตรียมตัวไว้ตั้งแต่ต้น แม่ชิวาว่าอาจได้รับอันตรายและภาวะแทรกซ้อนในระหว่างคลอด รวมทั้งลูกสุนัขก็อาจจะไม่มีชีวิตรอดออกมาได้ ซึ่งวิธีการสังเกตดูว่าชิวาว่าท้องหรือไม่ สามารถดูได้จากความเปลี่ยนแปลงของสุนัขดังต่อไปนี้
- เต้านมขยายใหญ่ขึ้น เต้านมขยายและมีสีเข้มขึ้นกว่าเดิม
- ท้องโตเร็ว ขยายออกเร็วมาก เมื่อชิวาว่าท้อง ท้องของเขาจะโตเร็วกว่าสุนัขสายพันธุ์อื่นมากและท้องค่อนข้างแข็ง
- ปัสสาวะบ่อยกว่าเดิมเนื่องจากมดลูกขยายใหญ่จนเบียดกระเพาะปัสสาวะ
- ความเปลี่ยนแปลงในการกินอาหาร อาจมีความอยากอาหารน้อยลงหรือบางตัวอาจหิวมากขึ้นและกินมากขึ้นกว่าเดิม
- เฉื่อยชา ไม่ค่อยเล่น มักนอนอยู่นิ่งๆ เป็นส่วนใหญ่
เมื่อสังเกตเห็นอาการที่เป็นสัญญาณดังกล่าวมาข้างต้น ผู้เลี้ยงต้องรีบพาชิวาว่าไปพบแพทย์และตรวจร่างกายเพื่อฝากท้องทันที
ผู้เลี้ยงที่มีสุนัขชิวาว่าท้องอยู่ในความดูแล ต้องรู้จักสังเกตอาการสุนัขชิวาว่าใกล้คลอดให้เป็นว่ามีความปกติตามที่ควรจะเป็นหรือไม่ เนื่องจากชิวาว่าจะมีความเสี่ยงในการคลอดได้มากเนื่องจากเป็นสุนัขพันธุ์เล็ก การเตรียมตัวสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดทั้งก่อนและระหว่างคลอดจะช่วยป้องกันอันตรายที่เกิดต่อแม่ชิวาว่าและลูกสุนัขที่จะคลอดออกมาได้ดีนั่นเอง
อ่านเรื่องราวสาระสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ เพิ่มเติม