เมื่อแมวสายพันธุ์เปอร์เซียได้รับความนิยม ลูกแมวเปอร์เซียแรกเกิด จึงถูกนำมาเลี้ยงมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะกับผู้ที่ซื้อแมวเปอร์เซียมาเลี้ยงและผสมพันธุ์เอง จึงทำให้ผู้เลี้ยงมือใหม่ที่ไม่เคยเลี้ยงลูกแมวมาก่อนอาจจะรู้สึกกังวลใจได้ เพราะแมวสายพันธุ์นี้ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ง่าย ที่สำคัญคือแมวสาวที่ท้องครั้งแรกมักจะทิ้งลูกตัวเองเร็ว บางครั้งลูกคลอดได้เพียงไม่กี่วันเท่านั้นแม่แมวก็อาจจะทิ้งไปทันที ดังนั้นผู้ที่เป็นเจ้าของแมวจึงจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้วิธีการดูแลลูกแมวเปอร์เซียอย่างถูกต้อง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของลูกแมวให้มากที่สุด
วิธีดูแลลูกแมวเปอร์เซียแรกเกิดอย่างถูกต้องเหมาะสม
เรื่องสำคัญของการเลี้ยงดูลูกแมวในวัยแรกเกิดนั้น คุณจำเป็นจะต้องเรียนรู้ไว้และทำอย่างระมัดระวัง เพราะไม่เช่นนั้นลูกแมวอาจเสี่ยงต่อภาวะท้องอืด ท้องเสีย หรือโรคแทรกซ้อนต่างๆ จนทำให้เสียชีวิตได้ง่าย ดังนั้นลองมาดูวิธีเลี้ยงลูกแมวอย่างถูกต้องดังต่อไปนี้
อ่านเพิ่มเติม: วิธีการเลี้ยงแมวเปอร์เซีย เบื้องต้นกับสิ่งที่เจ้าของควรรู้
1. เลือกขวดนมและจุกนมที่พอดี โดยควรเลือกให้พอดีกับขนาดของปากลูกแมวและเหมาะสมต่อช่วงวัย พร้อมการทดสอบการไหลของน้ำนมที่จะต้องไหลแบบพอเหมาะเช่นกัน ไม่เช่นนั้นอาจทำให้ลูกแมวสำลักนมหรือเกิดอาการท้องอืดได้ ซึ่งการป้อนนมน้องแมวแบบผิดวิธีหรือเลือกการไหลของน้ำนมที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้ถึงขั้นน้ำท่วมปอดได้อีกด้วย ดังนั้นจึงควรเลือกป้อนนมให้ถูกต้อง ถ้ากลัวว่าจะใช้อุปกรณ์เหล่านี้ได้ไม่ถูกหรือไม่เหมาะสม ให้ลองปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อขอคำแนะนำและการป้อนที่ถูกต้องมา เพียงเท่านี้คุณก็จะมั่นใจมากขึ้น
2. ถ้าแม่แมวไม่ยอมให้นมลูกแมวต่อหรือทิ้งลูกแมวไป คุณควรเลือกใช้เป็นนมแพะแทนนมของแม่แมว เพราะจะมีปริมาณสารอาหารและแร่ธาตุที่เพียงพอต่อความต้องการของลูกแมว โดยก่อนการนำมาให้ลูกแมวดื่มควรอุ่นเล็กน้อยและควรให้ในปริมาณที่เหมาะสม คือ
- อายุ 7 วัน ให้ป้อนที่ 1-2 ซีซี ทุก 2 ชั่วโมง
- อายุ 14 วัน ให้ป้อน 5-7 ซีซี ทุก 2 ชั่วโมง
- อายุ 21 วัน ให้ป้อน 7-10 ซีซี ทุก 3 ชั่วโมง
- อายุ 30 วันขึ้นไป ให้ดื่มนมเพียงวันละ 2-3 ครั้ง พร้อมเสริมเป็นอาหารเปียกหรืออาหารของลูกแมวโดยเฉพาะและให้ในปริมาณที่พอเหมาะ
3. การสังเกตดูว่าลูกแมวอิ่มแล้วหรือยัง ให้คุณดูวิธีการดูดของลูกแมวให้ดี ถ้าน้องแมวเริ่มดูดช้าลงหรือเริ่มไม่ดูดต่อ รวมไปถึงการกัดจุกนมไว้คาปากแต่ไม่ยอมดูดต่อ นั่นเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าลูกแมวเปอร์เซียตัวน้อยเริ่มอิ่มแล้วนั่นเอง ซึ่งถ้าแมวส่งสัญญาณว่าอิ่มคุณควรเลิกให้นมต่อทันที เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้น้องแมวท้องอืดได้
4. การจัดที่นอนของลูกแมวเปอร์เซีย สำหรับในเรื่องของการจัดที่นอนนั้นเจ้าของจะต้องจัดสภาพที่นอนให้มาพร้อมบรรยากาศอบอุ่น โดยมีลักษณะที่แสงสว่างส่องถึงไม่มากนัก ถ้าแม่แมวไม่ยอมกกลูกให้ใช้เป็นแสงไฟหลอดสีส้มส่องไปที่จุดนอนของลูกแมว ปูเป็นผ้าขนแบบนิ่มเพื่อทำให้น้องแมวรู้สึกอบอุ่นและนอนหลับสบายขึ้น ที่สำคัญคือจุดนอนจะต้องมีความสงบ ไม่มีเสียงรบกวน และจะต้องมีบรรยากาศที่ดี เพื่อทำให้การนอนหลับของลูกแมวเป็นไปอย่างเต็มอิ่ม
5. ถ้าแม่แมวทิ้งลูกแมวไปโดยไม่ยอมทำความสะอาดตัวลูกแมว ให้คุณสังเกตที่ดวงตาให้ดี ถ้าดวงตาไม่เปิดและเริ่มมีขี้ตาเกรอะกรังให้คุณใช้สำลีชุบน้ำอุ่นเช็ดจากหัวตาไปหางตาวันละ 2-3 ครั้ง ในช่วงที่ลูกแมวเริ่มตื่นให้ใช้สำลีชุบน้ำอุ่นกระตุ้นช่วงก้น เพื่อทำให้น้องแมวได้เริ่มฝึกขับถ่ายตามปกติ
6. ถ้าแม่แมวไม่ยอมทำความสะอาดตัวให้กับลูกแมว ในช่วงที่ลูกแมวเริ่มเดินหรือคลานได้ คุณควรให้ลูกแมวอยู่ในพื้นที่สะอาด แต่ถ้าสุดวิสัยที่ลูกแมวเลอะอึหรือฉี่ของตัวเอง ให้คุณใช้เพียงแค่สำลีชุบน้ำอุ่นเช็ดเบาๆ เท่านั้น แต่ไม่ควรเช็ดบ่อยครั้ง เพราะอาจจะทำให้น้องแมวเสี่ยงต่อสภาวะปอดบวมได้
7. ความสะอาดถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะจุดที่นอนและที่อยู่ของลูกแมว ดังนั้นคุณจึงควรหมั่นทำความสะอาดให้มาก แต่ในช่วงทำความสะอาดควรจะเป็นช่วงที่ลูกแมวตื่นเต็มที่แล้ว ถ้าเป็นช่วงที่ลูกแมวหลับอยู่ไม่ควรเข้าไปยุ่ง เพราะอาจจะทำให้พัฒนาการลูกแมวหยุดชะงักได้
อ่านสาระน้องแมวอื่น ๆ เพิ่มเติม;
- รวมมิตรยอดฮิต แมวขนสั้น ที่คนไทยชอบเลี้ยง
- ดีใจด้วย! คุณกำลังมีหลาน!! สัญญาณบอกเหตุน้อง แมวท้อง
- คนรักแมวต้องรู้ โรค fip ภัยร้ายลูกรักของคุณ
- 13 สายพันธุ์น้องแมวที่ทำตัวหยั่งกับน้องหมา!
- มาทำความรู้จักกับ แมวแมงซ์ {Manx} กันดีกว่า
พัฒนาการของลูกแมวเปอร์เซียแรกเกิด
ลูกแมวเปอร์เซียแรกเกิด จะลืมตาหลังจาก 8 วัน และจะเริ่มยืนทั้ง 4 ขา ได้เมื่อเข้าสู่ สัปดาห์ที่ 2 หรือประมาณ 14 วัน ซึ่งในช่วงเวลานี้จะมีฟันซี่เล็กเกิดขึ้น จนกระทั่งในช่วงของสัปดาห์ที่ 3 พัฒนาการในเรื่องของการเคี้ยว การกัด และการรับรู้ถึงสิ่งกระตุ้นต่างๆ จากภายนอกจะมีมากขึ้น การมองเห็นเริ่มชัดเจนขึ้น การได้ยินและสัมผัสต่างๆ เริ่มดีขึ้นกว่าเดิม ในช่วงเวลานี้ลูกแมวเปอร์เซียสามารถเล่นและลับเล็บได้แล้ว
ดังนั้น คุณจึงสามารถเลือกซื้อของเล่นชิ้นเล็กและซื้อที่ลับเล็บเตรียมไว้ได้เลย ที่สำคัญคือในช่วงระยะเวลา 21-30 วัน ลูกแมวเปอร์เซียจะเริ่มเดินสำรวจพื้นที่บ้านมากขึ้น ซึ่งการสำรวจนี้จะเป็นการเรียนรู้ที่อยู่อาศัยของตัวเองและเป็นการเรียนรู้ลูกแมวในคอกเดียวกัน รวมไปถึงเป็นการทำความรู้จักต่อแมวตัวอื่น ในช่วงระยะเวลาสัปดาห์ที่ 3 ถึงสัปดาห์ที่ 4 ลูกแมวจะเติบโตขึ้นและมีพัฒนาการที่รวดเร็วอย่างเห็นได้ชัด สีขนและสีตาของลูกแมวจะเริ่มเปลี่ยนไปทีละน้อย ซึ่งในช่วงเวลานี้ให้คุณเสริมพัฒนาการลูกแมวด้วยการนำพาลูกแมวเปอร์เซียออกสู่สังคมไปพบกับแมวตัวใหญ่ให้มากขึ้นและให้มีการเล่นอย่างเหมาะสม รวมไปถึงการฝึกกินอาหารเปียกสำหรับลูกแมวโดยเฉพาะ
อ่านเพิ่มเติม: 9 Ideas DIY ของเล่นแมว ทำเองง่าย ถูกใจน้องแมวเหมียว
ช่วงเวลาหย่านมในช่วงอายุ 6-8 สัปดาห์หรือประมาณ 2 เดือน จะเป็นช่วงที่แม่แมวจะเริ่มไม่ให้ลูกแมวกินนมอีกต่อไปและเป็นช่วงที่คุณเองก็ควรหยุดป้อนนมให้ลูกแมวเปอร์เซียด้วยเช่นกัน เพื่อให้เกิดการฝึกกินอาหารเปียกและอาหารเม็ด เพราะในช่วงเวลานี้ลูกแมวจะต้องการพลังงานจากสารอาหารต่างๆ ค่อนข้างมาก เพื่อนำมาพัฒนาร่างกายและเพิ่มพละกำลังของตัวเอง การกินอาหารเม็ดจึงสามารถตอบโจทย์เรื่องคุณค่าทางสารอาหารที่ครบครัน ดังนั้นคุณจึงควรเลือกอาหารที่มีคุณค่าของสารอาหารสูง คัดสรรวัตถุดิบมาเป็นอย่างดี และเป็นสูตรสำหรับลูกแมวในแต่ละช่วงวัยโดยเฉพาะ แต่ในช่วงเวลานี้คุณควรนำอาหารเม็ดมาผสมกับน้ำเพื่อให้นิ่มและเคี้ยวง่าย เพื่อทำให้ระบบการย่อยของน้องแมวไม่มีปัญหาและไม่ต้องเสี่ยงต่อการเป็นโรคลำไส้อักเสบในอนาคตอีกด้วย
อ่านเพิ่มเติม: ทุกเรื่องที่คุณควรรู้ก่อนจะ เลี้ยงแมวเปอร์เซีย
ถ้าไม่ต้องการให้แม่แมวทิ้งลูกแมวเปอร์เซียแรกเกิดไปควรทำอย่างไร
- เมื่อแม่แมวเปอร์เซียทำการคลอดลูกแมวเปอร์เซียแรกเกิด สิ่งที่คุณควรทำคือดูอยู่ห่างๆ ถ้าไม่เกิดเหตุเรื่องการคลอดไม่ออกหรือเป็นแมวสาวที่คลอดเองไม่ได้ คุณไม่ควรเข้าไปยุ่งเด็ดขาด ควรให้แม่แมวจัดการในทุกเรื่องด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการเบ่งคลอด การทำความสะอาดลูก การกินรก หรือการคาบลูกไปอยู่ในจุดที่แม่แมวต้องการ นอกเสียจากว่าเกิดเหตุที่แมวไม่สามารถคลอดเองได้คุณจึงเข้าไปช่วยเหลือ
- เตรียมพื้นที่สงบ สะอาด และมีแสงที่พอเหมาะให้กับแม่แมว เพื่อทำให้ตัวแม่แมวเปอร์เซียรู้สึกถึงความปลอดภัยไร้กังวล โดยพื้นที่นั้นไม่ควรเป็นพื้นที่เสียงดัง ควรเลือกจุดที่เงียบสงบที่สุดภายในบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้แม่แมวคาบลูกหนีและจะไม่ทิ้งลูกไปเร็วอีกด้วย
- ช่วงที่แม่แมวเลี้ยงลูกแมวเปอร์เซียแรกเกิด คุณไม่ควรเข้าไปยุ่งหรือไปจับลูกแมวเด็ดขาด ควรปล่อยให้แม่แมวเลี้ยงดูเองทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้แม่แมวทิ้งลูกแมวไป เพราะถ้าแม่แมวเห็นว่าคุณเข้าไปยุ่งกับลูกแมวบ่อยครั้ง จะยิ่งไปกระตุ้นให้แม่แมวรู้สึกว่าหมดหน้าที่และทิ้งไปในที่สุด
- พยายามให้แม่แมวอยู่กับลูกแมวให้มากที่สุดและให้ตัวแม่แมวกลับมาให้นมลูกเองทุกครั้ง ในช่วงเวลานี้คุณจึงไม่ควรปล่อยให้แม่แมวออกจากบ้านเด็ดขาด ควรให้อยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมและให้แม่แมวได้เห็นตัวลูกของตัวเองอยู่เสมอ วิธีนี้จะช่วยทำให้แม่แมวอยู่ใกล้ชิดกับลูกมากขึ้น
- ถ้าพ่อแมวมีพฤติกรรมเข้ามาช่วยเลี้ยงลูกแมวเปอร์เซียแรกเกิด คุณควรปล่อยให้พ่อ-แม่แมวเข้ามาดูแลครอบครัวตัวเอง เพียงแต่คุณจะต้องคอยดูอยู่ห่างๆ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาพ่อแมวทำร้ายลูกตัวเอง
- ไม่ควรให้แม่แมวหยุดให้นมลูกเร็วเกินไป เพราะถ้าคุณเข้าไปให้นมลูกแมวเองเพราะความสงสาร จะทำให้แม่แมวหยุดให้นมลูกเร็วก็จะยิ่งทิ้งลูกเร็วด้วยเช่นกัน ดังนั้นคุณจึงควรปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ นอกเสียจากว่าเกิดเหตุสุดวิสัยที่แม่แมวไม่เอาลูกตัวเองจริงๆ คุณจึงค่อยเข้าไปเลี้ยงดูลูกแมวเปอร์เซียแรกเกิดด้วยตัวคุณเอง
อ่านเพิ่มเติม: การเลี้ยงแมวแบบ Kitcat Nursery
Box Meaww หวังว่ารายละเอียดและขั้นตอนการเลี้ยงลูกแมวเปอร์เซียในวัยแรกเกิดทั้งหมดนี้ จะช่วยทำให้คุณเข้าใจวิธีการเลี้ยงที่ถูกต้องมากขึ้น พร้อมเข้าใจต่อปัญหาแม่แมวทิ้งลูกเร็ว รวมไปถึงวิธีแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน เพียงเท่านี้คุณก็สามารถเลี้ยงลูกแมวเปอร์เซียแรกเกิดได้อย่างมั่นใจ ที่สำคัญคืออย่าลืมพาลูกแมวไปฉีดวัคซีนให้ครบตามที่สัตวแพทย์แนะนำ เพื่อให้ลูกแมวได้มีร่างกายและสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงที่สุด
อ่านสาระสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ;
- พัฒนาการลูกกระต่าย และวิธีการดูแลลูกกระต่ายเบื้องต้น
- สาระน่ารู้เรื่อง การเลือก อาหารกระต่ายที่ดีที่สุด [2020]
- คู่มือ อาบน้ำหมา [พันธุ์เล็ก vs พันธุ์ใหญ่]
- หมาตาแฉะ เพราะอะไร จะรักษาและป้องกันได้อย่างไร
- คอร์กี้ (Corgi) สุนัขพันธุ์แคระแสนรู้ที่น่ารักและหน้าตาเป็นมิตร
- ไซบีเรียน ฮัสกี้ สุนัขหน้าตาน่ารักที่ใครเห็นก็ต้องอยากเลี้ยง